Tag Archives: หนังสือ

หนังสือที่รัก

ฉันชอบอ่านหนังสือ ทุกทีที่ว่าง ทุกครั้งที่พอมีเวลา ฉันต้องหาหนังสือสักเล่มมาอ่าน ก่อนนอนยังไม่วายต้องอ่าน ไม่งั้นนอนไม่หลับ แม้ฉันจะไม่อ่านทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ เลือกเฉพาะหนังสือเล่มที่ชอบ แต่ก็อาจเรียกได้ว่า ฉันอ่านหนังสือมากพอสมควร
ฉันเคยได้ยินมาว่า หากอยากรู้ว่าคนนั้นคิดอย่างไร ก็ให้ดูหนังสือที่เขาอ่านในช่วงห้าปีมานี้ ตอนแรกฉันก็สงสัยว่าจริงหรือไม่ พออายุล่วงเลยไป ฉันมองย้อนกลับมาดูตัวเอง ทำให้คิดว่าคำพูดนั้นน่าจะเป็นจริง
ตอนเป็นเด็กที่เพิ่งเริ่มหัดอ่านเขียน หนังสือการ์ตูนขายหัวเราะ และมหาสนุก กำลังได้รับความนิยมอย่างสูง เวลาผู้ใหญ่ซื้อมาอ่าน เด็กๆ อย่างเราก็เลยพลอยได้อ่านหนังสือไปด้วย อ่านตั้งแต่หน้าแรกยันหน้าสุดท้าย รู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้างแต่ก็ชอบ นอกจากนั้นยังมีหนังสือเล่มละบาทอีก พวกเด็กๆ มักไปยืนดูภาพปกหนังสือที่วาดไว้จูงใจลูกค้าเต็มหน้าร้าน ถ้าใครซื้อมาเป็นได้แบ่งกันอ่านทั้งซอย เป็นเรื่องผีไทยบ้าง เรื่องนิทานสอนคนบ้าง ฉันว่าอย่างน้อยสิ่งเหล่านี้ก็ซึมซับมาเป็นนิสัยส่วนหนึ่งของพวกเรา
หนังสือเล่มแรกที่ฉันอ่านเอง เป็นหนังสือนิทานภาพในห้องสมุดของโรงเรียนเล็กๆ หาดูทั้งโรงเรียนมีหนังสือที่น่าอ่านเพียงเล่มนี้เท่านั้น เป็นเรื่องของเต่ากับปลา ที่ว่ายน้ำไปเที่ยวกรุงเทพกัน แต่ยิ่งใกล้เมือง น้ำยิ่งสกปรกและอันตราย จนเพื่อนทั้งสองต้องซมซานกลับมายังถิ่นเกิด หลังจากเล่มนี้ที่จำได้แม่น คือหนังสือเรื่อง ต้นส้มแสนรัก ที่ลูกพี่ลูกน้องของฉันแนะนำให้อ่านตอนที่ไปค้างบ้านเขา หนังสือเล่มนี้ฉันอ่านจนจบพร้อมทั้งน้ำตา เป็นหนังสือแปลเยาวชนเรื่องแรกที่ได้อ่าน
หนังสือที่ฉันชอบ ขอเรียงลำดับตามยุคสมัย ถูกบ้างผิดบ้าง เน้นความพอใจของฉันเป็นพอ
-ตอนอยู่ประถม ได้เรียนเรื่องของศรีปราชญ์ เท่ห์มาก คนอะไร จะตายแล้วยังไม่วายแต่งกลอนด้วยเท้าให้ชาวโลกทึ่ง ฉันจำได้จนถึงทุกวันนี้ เวลาคิดถึงกลอนนี้ ก็เหมือนจะรู้สึกได้ถึงความคับแค้นแน่นทรวงของคนที่ถูกกล่าวหา ถ้อยคำคัดสรรออกมาเรียงร้อยโดยที่เนื้อความชัดเจนเลยว่า ข้าไม่ผิด แล้วเอ็งนะ ต้องรับผิดชอบ เห็นภาพเลย
– หลังจากนั้นเป็นงานของเจ้าฟ้ากุ้ง บทกาพย์เห่เรือ พ่วงไปกับงานของรัชกาลที่สอง คือ กาพย์เห่ชมเครื่องคาวหวาน ที่เป็นทำนองเสนาะ น่าฟัง เราอ่านแล้วมักสงสัย ว่าทำไมถึงสามารถหาถ้อยคำเพียงเล็กน้อยมาเรียงร้อยต่อกัน เกิดเป็นภาพปรากฎตรงหน้าราวกับว่ามีจริง
-บทกลอนของสุนทรภู่ ท่านนี้เราชอบมาก บางบทจำไว้สอนตนเองเสมอ เช่น
จะพูดจาปราศัยกับใครนั้น อย่าตะคั้นตะคอกให้เคืองหู (รู้แต่ไม่ทำ)
อันอ้อยตาลหวานลิ้นแล้วสิ้นซาก แต่ลมปากหวานหูมิรู้หาย
แล้วสอนว่าอย่าไว้ใจมนุษย์ มันแสนสุดลึกล้ำเหลือกำหนด ..
มนุษย์นี้ที่รักอยู่สองสถาน บิดามารดารักมักเป็นผล..
เห็นไหม จำได้หลายบทเพราะชอบจริง หนังสือรวมงานของท่านสุนทรภู่ที่เคยเรียนตอนอยู่ม.๔ ก็ยังเก็บไว้ ราคา ๑๖ บาท เก็บเพราะรู้สึกว่าหนังสือดีแต่ราคาถูกมาก
-งานเขียนแนวนิยายโบราณที่เราชอบ เรียงตั้งแต่ก่อนกรุงศรีอยุธยาจะแตกก็ต้องเรื่อง สายโลหิต เอาใจช่วยขุนไกรกับดาวเรืองจนออกนอกหน้า ยุคต้นกรุงก็ต้องเรื่องรัตนโกสินทร์ รู้สึกเหมือนตัวเองพายเรือไปดูชีวิตของคนสมัยก่อนเองเลย หลังจากนั้น ต้องยกให้ สี่แผ่นดิน ที่มีแม่พลอยคอยบอกเล่าเรื่องต่างๆ อ่านแล้วคอยจะเพ้อว่าเราอาจเกิดเป็นคนยุคนั้นแล้วเคยเจอเหตุการณ์อย่างนี้…พวกแยกโลกความจริงกับความฝันออกจากกันไม่เป็น
-ยุคหลังจากนั้น งานของร.๖ ที่จำได้ว่าชอบมากเลย คือเรื่อง มัทนะพาธา ตำนานดอกกุหลาบ ชอบมากถึงขนาดจดกลอนไว้ท่อง เนื่องจากเป็นกลอนที่ยาก แต่ไพเราะ เช่น
อ้าอรุณแอร่มระเรื่อรุจิ ประดุจมโนภิรมย์ระตี ณ แรกรัก
แสงอรุณวิโรจน์นภาประจักษ์ แฉล้มเฉลาและโศภินัก ณ ฉันใด
หญิงและชาย ณ ยามระตีอุทัย สว่าง ณ กลางกมลละมัย ก็ฉันนั้น…
ที่ยกมาจนจบเพราะฉันจำได้เพียงท่อนแรก พอค้นดูจึงรู้ว่าเป็นคำฉันท์ ที่ฉันไม่เคยเรียน รู้แต่ว่าชอบ
-งานในยุคปัจจุบันแบ่งซอยย่อยๆ ได้พอสมควรดังนี้
ท่องเที่ยว งานที่สนุกสนานมากของนิ้วกลมทำให้ฉันทึ่งทุกครั้งที่ได้อ่าน ฉันไม่รู้จักนักเขียนคนนี้จนไปงานสัปดาห์หนังสือหลายปีก่อน เจอซุ้มที่มีคนกำลังมุงอยู่เพราะนักเขียนแจกลายเซ็นต์ ฉันรีบคว้าหนังสือไปให้เขาเซ็นต์ เขาถามว่าฉันชื่ออะไร แล้วก็เขียนชื่อให้ฉัน แนวให้ออกไปตามหาฝัน โดยวาดรูปตัวเขายืนอยู่บนยอดเขาตะโกนออกมา ฉันรับหนังสือมางงๆ ว่าตาคนนี้คิดได้ไงเนี่ย กลับมาเลยได้อ่าน เนปาลประมาณสะดือ เข้าใจแล้วว่าทำไมเขาถึงวาดรูปตัวเองอยู่บนภูเขา ตามต่อมาด้วยเรื่อง โตเกียวไม่มีขา งานเล่มอื่นฉันก็ตามอ่านแต่ไม่ชอบมาก ฉันว่าบางที เขาก็ยังตามหาตัวเองอยู่ หรือบางทีก็ต้องเขียนเอาตังค์บ้าง งานมันเลยจืด (ช่างกล้าวิจารณ์)
เงินๆ ทองๆ ตอนที่ไปทำงานบ้านนอก เวลาว่างเยอะจนฟุ้งซ่าน เวลาเข้าเมืองทีต้องซื้อหนังสือหอบหิ้วกลับมาทีละเยอะๆ แนวนี้ที่เด่นเลยจะเป็นเรื่อง พ่อรวยสอนลูก ของ โรเบิร์ต ที คิยาซากิ อ่านแล้วประโยคไหนที่ชอบก็จะลอกมาแปะไว้ข้างฝาบ้าน ชอบมากและวาดความฝันเป็นตัวเงินที่สัมผัสได้ แม้ตอนนี้ฉันจะเปลี่ยนแนวคิดในการดำรงชีวิตไปแล้วแต่ยังไม่อาจลืมคำสอนของเขาที่ว่า “เงินมันไม่ใช่พระเจ้า แต่มันคือพ่อของพระเจ้า” และคนมีเงินก็ดีกว่าคนที่ไม่มีเงินเสมอ เพราะคตินี้ฉันจึงยังทำงานอยู่ทุกวันนี้ไม่หนีเข้าป่าไป
พัฒนาตนเอง เมื่อก่อนถ้าเห็นหนังสือแนวนี้ต้องซื้อ ประมาณว่าไม่อ่านไม่ได้ จนมีมากมายเต็มบ้านแต่ช่วงปีหลังไม่อ่านเลย จำหน้าปกหนังสือได้แต่รู้สึกว่าความสนใจของเราเปลี่ยน ขอละไว้ก่อน
ธรรมะ เริ่มจากงานของท่านว.วชิรเมธี ตอนเรียนอยู่ได้เห็นงานของท่านขายติด best seller แต่คนนิสัยดื้ออย่างเราไม่ยอมอ่าน เพราะรู้ว่าพระแต่ง ต้องไม่สนุกแน่นอน และดื้ออยู่นานพอสมควร จนได้ดูรายการทีวีที่สัมภาษณ์ท่าน จึงรู้ว่าเราพลาดอย่างแรง พระที่ดีและมีปัญญามากในยุคของเรานี้มีงานเขียนออกมาเพื่อสอนคนมากขนาดนี้ แต่เรายังเหมือนกบในกะลาน้อยที่ไม่ยอมรับรู้รับฟัง หลังจากวันนั้นเลยต้องไปตามซื้องานของท่านมาอ่าน เล่มที่โดนที่สุดคือเรื่อง สบตากับความตาย ที่พอฟังชื่อแล้วไม่อยากอ่าน แต่พอได้อ่านแล้วจะเข้าถึง เล่มอื่นก็เขียนดี อ่านเพลิน
หนังสือธรรมะของท่านอื่นเช่น ท่านพุทธทาส ท่านปอ.ปยุตโต (เขียนไม่ถูกแน่เลย) อ่านแล้วก็ดีแต่มักอ่านได้ไม่ถึงสองหน้าก็หลับกลิ้งแล้ว เหมาะที่จะวางไว้ตรงหัวนอน อ่านก่อนนอนแล้วหลับง่าย
ธรรมะประยุกต์ ที่ชอบมากคืองานของดังตฤณ การพบกันของเรามันน่าตลกมาก เริ่มจากไปห้องสมุดแล้วได้เห็นงานเขียนเรื่อง เตรียมเสบียงไว้เลี้ยงตัว เลยยืมมาอ่าน แต่ที่ห้องสมุดมีไม่ครบทั้งชุด เราจึงต้องไปตามล่าหามาไว้เป็นเจ้าของเอง รวมถึง เสียดาย..คนตายไม่ได้อ่าน ที่พอเราอ่านแล้ว เราก็รู้สึกเลยว่าจะทำตัวแบบเดิมต่อไปไม่ได้แล้ว จึงเปลี่ยนแนวมาสนใจธรรมะมากขึ้นและเริ่มปฏิบัติธรรม ความจริงงานเขียนของดังตฤณ เราเคยอ่านมาก่อนแล้ว คือเรื่องรักแท้มีจริง จำได้ว่าชอบเหมือนกัน แต่ตอนหลังมอบหนังสือให้คนอื่นไป เลยลืมเลือนไปบ้าง อีกเรื่องที่ตั้งชื่อกวนๆ คือ ถ้ารู้กูทำไปนานแล้ว ซึ่งเราซื้อมาจากงานสัปดาห์หนังสือ ได้เสื้อแถมมาด้วย ใส่แล้วเพิ่มความกวนให้กับใบหน้ามาหลายรอบเลยต้องเลิกใส่ จำชื่อผู้แต่งไม่ได้..(แล้วจะพูดทำไม)
-หนังสือแปล เรื่องที่ประทับใจมากคือซีรี่ย์ บ้านเล็ก ของลอร่า อิงกัล ไวเดอร์ ที่เขียนเล่าชีวิตของตนเองตั้งแต่เด็กจนแต่งงานไป เป็นงานเขียนที่มหัศจรรย์มากๆ เราอ่านจบแล้วก็เพ้อพกไปตามประสา แต่สิ่งหนึ่งที่สอนเราคือ ชีวิตก็มีแค่นี้ มีสุขมันก็ไม่ตลอด มีทุกข์มันก็ไม่ตลอด ขนาดชีวิตของนางเอกว่าสุขสงบ ยังไม่วายพระเอกแก่ตายไปก่อน นางเอกเลยมีเวลามาเขียนหนังสือ ซึ่งสุดท้ายก็แก่ตายเหมือนกัน แต่กว่าเราจะได้อ่านก็ตอนที่เราจบทำงานแล้ว เรื่องนี้ไม่ได้อ่านตั้งแต่เด็กเพราะจำได้ว่าตอนอยู่ม.1 เพื่อนคุยให้ฟังว่า ถ้าเธอมีตังค์จะซื้อหนังสือเรื่องนี้ทั้งชุด เพราะมันดีมาก…ก็อีนิสัยดื้ออย่างเรานี่นะ หนังสือดีแค่ไหนเราก็ไม่อ่าน..ก็พอใจอ่ะ มีไรมั้ย (ตอนนี้มาคิดย้อนดูรู้สึกว่ายัยคนนี้ นิสัยเกินเยียวยาจริงๆ) อีกเรื่องที่ชอบมาก คือเรื่อง เดอะ มอฟแฟต เล่าเรื่องชีวิตเด็กสี่พี่น้องในครอบครัวที่พ่อตาย แต่ทุกคนล้วนมีความสุข เป็นงานที่แม้อ่านซ้ำก็ยังขำในความน่ารักของเด็กน้อย จำชื่อคนแต่งไม่ได้ (ชื่อยาก) ซึ่งชุดนี้รักมากได้มาจากการเดินมั่วๆ ในงานสัปดาห์หนังสือแล้วไปเจอว่าชุดนี้ 4 เล่ม เพียง 200 บาท เราไม่รอช้า ไม่รู้ว่าสนุกหรือไม่แต่ขอให้ได้ครอบครองไว้ก่อน (นิสัย..) พออ่านแล้วชอบเลยเปลี่ยนเป็นรักเลย ของดีราคาถูกก็มีแฮะโลกนี้
-หนังสือจากเตี่ย ตอนวันหยุดเตี่ยชอบพาไปซื้อของที่ห้าง ถ้ามีเวลาเรามักขอแวะดูหนังสือตามร้านสักหน่อย หนังสือที่เราขอให้เตี่ยซื้อให้ชื่อ อย่าเหงื่อตกกับเรื่องรกสมอง จำชื่อคนแต่งไม่ได้แต่จำหลักการของหนังสือเล่มนี้ที่ว่า โลกนี้มีกฎอยู่สองข้อ 1 คืออย่าทำเรื่องเล็กให้กลายเป็นเรื่องใหญ่ และ2ทุกอย่างเป็นเรื่องเล็ก โอ้โห เราอ่านแล้วรู้สึกว่า ใช่เลย หนังสือเล่มที่สองที่เตี่ยมอบให้เพราะไปเจอว่ามันซุกอยู่และคงไม่มีใครอ่าน คือเรื่อง คู่มือมนุษย์ ของท่านพุทธทาส ซึ่งเราเก็บไว้อย่างดี (อ่านแล้วแต่มักจะหลับเสมอ) ของเขาดีจริงๆ
-หนังสือตอนม.ต้น เป็นช่วงวัยที่เพาะความฝันไว้ในใจเราอย่างมากมาย โลกนักอ่านของเราเริ่มต้นได้ง่ายๆ ด้วยความขี้เกียจ เนื่องจากมีเพื่อนบอกว่าถ้าขยันยืมหนังสือจากห้องสมุดไปอ่านให้มากๆ จะได้เลื่อนตำแหน่งเป็นเจ้าหน้าที่ห้องสมุด ซึ่งตอนม.ปลายจะได้ไม่ต้องไปเข้าแถวหน้าเสาธง (คิดไปถึงนู่น) เราและเพื่อนจึงหมั่นแวะเวียนไปยืมหนังสือกันอย่างขยันขันแข็ง จำได้ว่าบัตรหนึ่งใบบันทึกชื่อหนังสือได้ 40 เล่ม เราใช้บัตรไป3 ใบ ได้เป็นเจ้าหน้าที่ห้องสมุดสมใจ หนังตอนเป็นเด็กจะชอบพวกหนังสือสำหรับเยาวชน หนังสือแปลเล่มกะทัดรัด งานที่รักมากและคิดว่าหากมีเงินเมื่อไหร่จะต้องซื้อเก็บไว้ คือเรื่อง บึงหญ้าป่าใหญ่ ของเทพสิริ สุขโสภา อ่านไปหลายรอบ รู้สึกว่าสนุกมากเหมือนเราเป็นหนึ่งในเด็กกลุ่มนั้น โตขึ้นมาก็ทำตามฝันโดยการซื้อมาเก็บไว้ น่าแปลกที่การอ่านซ้ำอีกเมื่อเวลาผ่านไป เราสัมผัสได้เลยว่าจินตนาการของเรามันหดหายไปอย่างมาก..ดังนั้น เราจึงสนับสนุนให้เด็กอ่านหนังสือมากตั้งแต่เด็ก อย่าถามว่าทำไม เพราะขี้เกียจตอบ

เขียนเพิ่มเติมงานที่ตกหล่น พอเวลาผ่านไปเราก็มักจะหลงลืมแม้เดิมจะรู้สึกชอบมากขนาดไหนก็ตาม งานที่ลืมไปมีหลายเรื่องเลย ดังนี้
หนังสืออ่านนอกเวลาตอนมัธยม เช่นเรื่องระเด่นลันได ที่อ่านแล้วอยากเห็นหน้าคนแต่งว่าทำไมถึงเขียนได้ดี ตลก บรรยายกลอนได้เห็นภาพมาก เรื่อง หนุ่มชาวนา ที่เรื่องนี้ภาพที่ติดตาเราคือ ภาพเด็กบ้านนอกที่เป่าควันน้ำแข็งเพราะเข้าใจว่าร้อนมาก ชีวิตแบบบ้านนอกที่เราเพ้อหา เรื่องปุลากงที่ทำให้เราจำชื่อของหมวดเข้มและหนูตุ่นได้ดี นอกจากนี้ยังได้อ่านเอมิล ยอดนักสืบ คือ โลกการอ่านตอนนั้นมันเปิดกว้างจริงๆ อยากกลับไปเป็นเด็กที่อ่านได้อย่างอิสระ ไม่มีการปิดกั้นจินตนาการอีกสักครั้ง
หนังสือตระกูลสามก๊ก ที่ใครบอกว่า ถ้าอ่านสามรอบจะคบไม่ได้ เราไม่ได้อ่านเลยสักรอบเพราะท้อกับขนาดเล่มและรู้สึกว่าไม่มีเวลา แต่เราได้อ่านฉบับวนิพก ที่แยกเล่าเรื่องตัวละครทีละตัว ซึ่งเราก็ชอบมาก และยังคงเก็บความกังขาเรื่องเล่มใหญ่นั้น แต่ก็ยังไม่คิดจะแก้ข้อกังขาสักที คาดว่าอาจต้องบังคับตัวเองให้อ่านเร็วๆ นี้เพราะรู้สึกว่าตัวเองเชยมาก
เพ็ชรพระอุมา นิยายเรื่องยาว 48 เล่มจบที่เราสงสัยว่าทำไมมันยาวขนาดนั้น เลยยืมของห้องสมุดมาอ่าน ใช้เวลาประมาณสามเดือนจบ เป็นช่วงเวลาที่น่าจดจำมากของชีวิตเพราะอ่านตลอดเวลา อ่านแล้วก็ไปคืน ยืมใหม่ อ่านแล้วไปคืน…ช่วงที่หนังสือเล่มที่ต้องการมีคนยืมตัดหน้าไป แทบชักดิ้นชักงอตาย คนเขียนท่านนี้เก่งจริงๆ